แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์
โดยฐานะทางประวัติศาสตร์ของพวกเขา พวกผู้ดีขุนนางฝรั่งเศสและอังกฤษถือเป็นหน้าที่ต้องเขียนหนังสือโจมตีสังคมชนชั้นนายทุนสมัยใหม่บ้าง ในการปฏิวัติเดือนกรกฎาคม ๑๘๓๐ ของฝรั่งเศสและการเคลื่อนไหวปฏิรูปของอังกฤษ พวกเขาถูกพวกร่ำรวยรุ่นใหม่ทีน่าเกลียดชังตีพ่ายไปอีกครั้งหนึ่ง เริ่มแต่นั้นมา การต่อสู้ทางการเมืองอันหนักหน่วงเป็นอันว่าไม่ต้องพูดถึงอีกแล้ว สิ่งที่พวกเขายังทำได้ก็มีแต่การต่อสู้ทางด้านการขีดเขียนเท่านั้น แต่ถึงแม้เป็นทางด้านการขีดเขียนก็ตามจะพูดให้เหมือนสมัยฟื้นอำนาจ [2] นั้นก็เป็นไปไม่ได้เสียแล้ว เพื่อที่จะก่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ พวกขุนนางจำต้องแสร้งทำท่าทาง ราวกับว่าพวกเขาไม่สนใจใยดีในผลประโยชน์ของตนเองแล้วทำราวกับว่าการที่พวกเขาประณามชนชั้นนายทุนนั้นก็เพียงเพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมกรผู้ถูกขูดรีดเท่านั้น วิธีการที่พวกเขาใช้มาระบายความคั่งแค้นนั้นก็คือ ร้องเพลงสาปแช่งผู้ครองอำนาจใหม่ของพวกเขา และกระซิบกระซาบคำทำนายบอกลางร้ายบางอย่างให้เข้าหูพวกเขา
ดังนั้น จึงได้เกิดสังคมนิยมฟิวเดอล ซึ่งเป็นกึ่งเพลงแห่ศพ กึ่งบทถากถาง กึ่งเสียงสะท้อนของอดีต กึ่งคำขู่ขวัญของอนาคต บางครั้งมันก็สามารถใช้การวิจารณ์ที่เผ็ดร้อน เหยียดหยามและเสียดสีแทงถูกใจดำชนชั้นนายทุน แต่เนื่องจากคนพวกนี้ไม่สามารถเข้าใจวิถีดำเนินของประวัติศาสตร์สมัยใหม่เลย ข้อเขียนของพวกเขาจึงมักจะทำให้รู้สึกน่าขบขันเสมอ
เพื่อที่จะชักจูงประชาชนไปอยู่กับตน พวกขุนนางได้ชูย่ามขอทานของชนชั้นกรรมาชีพโบกแทนธง แต่ทุกครั้งที่ประชาชนเดินตามพวกเขาไปนั้น ต่างล้วนได้พบตราฟิวเดอลเก่าติดอยู่ที่ก้นของพวกเขจึงพากันฮาป่าแล้วแยกย้ายกันไป
ส่วนหนึ่งของพวกเชื้อสายแท้ของฝรั่งเศสและ อังกฤษหนุ่ม[3] ล้วนเคยแสดงละครชุดนี้มาแล้วทั้งนั้น
ในขณะที่พวกเจ้าฟิวเดอลกล่าวว่าแบบวิธีการขูดรีดของพวกเขาต่างกับการขูดรีดของชนชั้นนายทุนนั้น พวกเขาได้ลืมไปว่าพวกเขาดำเนินการขูดรีดในสภาพและเงื่อนไขที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิงและเวลานี้ก็ได้พ้นสมัยไปแล้ว ในขณะที่พวกเขากล่าวว่าภายใต้การปกครองของพวกเขาไม่เคย ปรากฏว่ามีชนชั้นกรรมาชีพสมัยใหม่เลยนั้น พวกเขาได้ลืมไปว่าชนชั้นนายทุนสมัยใหม่นั้นเป็นผลิตผลที่ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนของระบอบสังคมของพวกเขานั่นเอง
แต่อย่างไรก็ดี พวกเขาไม่ปกปิดอำพรางลักษณะปฏิกิริยาของการวิจารณ์ของตนเองเลย โทษสำคัญที่พวกเขากล่าวหาชนชั้นนายทุน นั้นก็คือ มีชนชั้นหนึ่งที่จะระเบิดทำลายระบอบสังคมเก่าทั้งระบอบ เจริญเติบโตขึ้นมาภายใต้การปกครองของชนชั้นนายทุน
ที่พวกเขาตำหนิชนชั้นนายทุนนั้น ไม่ใช่เป็นเพราะชนชั้นนี้ได้ทำให้เกิดชนชั้นกรรมาชีพทั่ว ๆ ไปขึ้นมา แต่เป้นเพราะชนชั้นนี้ได้ทำใหเกิดชนชั้นปฏิวัติในรูปแบบชนชั้นกรรมาชีพขึ้นมา
ฉะนั้น ในการปฏิบัติทางการเมือง พวกเขาจึงมีส่วนร่วมในการใช้มาตรการรุนแรงทั้งปวงต่อชนชั้นกรรมกร แต่ในชีวิตประจำวัน พวกเขาได้ละเมิดถ้อยคำอันสูงส่งทรงเกียรติของเขาเองยอบตัวลงเก็บผลแอปเปิ้ลทอง[4] และไปค้าขนแกะ หัวผักกาดหวาน และเหล้า[5] โดยไม่คำนึงถึงวาจาสัตย์ ความเมตตาปรานี และเกียรติยศ
เช่นเดียวกับที่พระมักจะจูงมือเดินไปกับเจ้าของที่ดิน สังคมนิยม พระก็มักจะจูงมือเดินกันไปกับสังคมนิยมฟิวเดอลดุจเดียวกัน
ไม่มีอะไรจะง่ายยิ่งไปกว่าการระบายสีสังคมนิยมให้กับลัทธิละตัณหาของศาานาคริสต์ ศาสนาคริสต์ก็วิจารณ์ระบอบกรรมสิทธิ์ส่วนบุคคล วิจารณ์การสมรส วิจารณ์รัฐอย่างรุนแรงด้วยมิใช่หรือ? และศษสนาคริสต์ส่งเสริมให้ใช้การกุศลและการวิงวอนร้องขอการอยู่เป็นโสด และการละตัณหา การบำเพ็ญพรตและการไปโบสถ์มาแทนสิ่งดังกล่าวมิใช่หรือ? สังคมนิยมของศาสนาคริสต์ เป็นเพียงน้ำมนต์ที่พระใช้มาทำให้ความเคืองแค้นของพวกขุนนางดูศักดิ์สิทธิ์ขึ้นเท่านั้นเอง
พวกขุนนางมิใช่ชนชั้นเดียวเท่านั้นที่ถูกชนชั้นนายทุนโค่น มิใช่ชนชั้นนี้เท่านั้นที่เงื่อนไขชีวิตความเป็นอยู่เลวลงทุกวันและสูญไปในสังคมทุนนิยมสมัยใหม่ ชาวเมืองผู้ได้รับสิทธิ์และชาวนาขนาดย่อมในสมัยกลาง เป็นต้นตระกูลของชนชั้นนายทุนสมัยใหม่ในประเทศที่อุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมไม่ค่อยเจริญนัก ชนชั้นทั้งสองนี้กระทั่งในทุกวันนี้ก็ยังหายใจรวย ๆ อยู่ข้าง ๆ ชนชั้นนายทุนที่เจริญตัวขึ้นมา
ในประเทศที่อารยธรรมสมัยใหม่ได้พัฒนาอย่างเต็มที่แล้ว ชนชั้นนายทุนน้อยชนชั้นใหม่ได้ก่อรูปขึ้น ชนชั้นนี้กวัดแกว่งอยู่ระหว่างชนชั้นกรรมาชีพกับชนชั้นนายทุน และประกอบขึ้นใหม่อยู่เรื่อย ๆ ในฐานะที่เป็นส่วนเพิ่มเติมของสังคมชนชั้นนายทุน แต่อย่างไรก็ตาม สมาชิกของชนชั้นนี้ถูกการแก่งแย่งแข่งขันผลักให้ไปอยู่ในขบวนชนชั้นกรรมาชีพอยู่เสมอ และพร้อมกับการพัฒนาของอุตสาหกรรมขนาดใหม่ พวกเขากระทั่งรู้อยู่ว่าในไม่ช้าพวกเขาก็จะสูญเสียฐานะในฐานที่เป็นส่วนอิสระส่วนหนึ่งในสังคมสมัยใหม่ไปอย่างสิ้นเชิง และในไม่ช้าก็จะถูกผู้คุมงานและพนักงานรับจ้างเข้าแทนที่ในพาริชยกรรมอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม
ในประเทศที่ชนชั้นชาวนามีจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรอย่างมากมาย เช่น ในฝรั่งเศส บรรดานักประพันธ์ที่ยืนอยุ่ข้างชนชั้นกรรมาชีพคัดค้านชนชั้นนายทุนนั้น ย่อมเป็นธรรมดาที่ใช้บรรทัดฐานของชนชั้นนายทุนน้อยและชาวนาขนาดย่อมไปวิพากษ์ระบอบชนชั้นนายทุน เมื่อเป็นเช่นนี้สังคมนิยมชนชั้นนายทุนจึงก่อรูปขึ้น ซิสมองดีนั่นแหละเป็นหัวหน้าของสำนักนี้ กล่าวสำหรับฝรั่งเศสเป็นเช่นนี้ ในอังกฤษก็เช่นเดียวกัน
สังคมนิยมสำนักนี้ได้วิเคราะห์ความขัดแย้งในความสัมพันธ์การผลิตสมัยใหม่อย่างเฉียบแหลมยิ่ง มันได้เผยให้เห็นการตบแต่งอันจอมปลอมของนักเศรษฐศาสตร์ มันได้พิสูจน์อย่างมีหลักฐานให้ห็นถึงบทบาททำลายของเครื่องจักรและการแบ่งงาน การรวมศูนย์ของทุนและที่ดิน การผลิตล้นเกิน วิกฤตการล่มจมอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้นของนายทุนน้อยและชาวนาขนาดย่อม ความยากจนของชนชั้นกรรมาชีพ ภาวะอนาธิปไตยในการผลิต การเฉลี่ยอย่างไม่ทั่วถึงที่สุดของการแบ่งปันโภคทรัพย์ สงครามอุตสาหกรรมที่มีลักษณะทำลายล้างระหว่างประชาชาติต่าง ๆ ตลอดจนการสลายตัวของขนบประเพณีเก่าของความสัมพันธ์ทางครอบครัวเก่าและของความเป็นประชาชาติเก่า
แต่กล่าวตามเนื้อหาที่เป็นคุณของสังคมนิยมชนิดนี้แล้ว ถ้ามิใช่มุ่งหมายที่จะฟื้นปัจจัยการผลิตและปัจจัยการแลกเปลี่ยนเก่าอันจะนำไปสู่การฟื้นความสัมพันธ์ระบอบกรรมสิทธิ์เก่าและสังคมเก่าแล้ว ก็มุ่งหมายที่จะเอาปัจจัยการผลิตและปัจจัยการแลกเปลี่ยนสมัยใหม่ยัดเยียดเข้าไปใหม่ในกรอบแห่งความสัมพันธ์ระบอบกรรมสิทธิ์เก่า ที่ได้ถูกปัจจัยดังกล่าวนี้ทัลวงแตกไปแล้วและจะต้องถูกทะลวงแตกอย่างแน่นอน ในสองสถานนี้สังคมนิยมชนิดนี้เป็นสังคมนิยมที่ปฏิกิริยาและเพ้อฝัน
ข้อสรุปสุดท้ายของมันก็คือ ระบอบสมาคมอาชีพในอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจแบบพ่อบ้านในเกษตรกรรม
ในการพัฒนาต่อมาของสังคมนิยมชนิดนี้ กระแสความคิดดังกล่าวได้กลายเป้นความคร่ำครวญที่ขี้ขลาดอย่างหนึ่ง
เอกสารสังคมนิยมและเอกสารลัทธิคอมมิวนิสต์ของฝรั่งเศส เกิดขึ้นภายใต้การกดขี่ของชนชั้นนายทุนที่อยูในฐานะปกครองและเป็นการแสดงออกทางลายลักษณ์อักษรของการต่อสู้กับการปกครองนี้ ขณะที่เอกสารนี้ถูกนำไปยังเยอรมนีนั้น ชนชั้นนายทุนในประเทศนั้นเพิ่มจะเริ่มดำเนินการต่อสู้คัดค้านระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขุนนาง
นักปรัชญา กึ่งนักปรัชญาและบรรดาผู้คงแก่เรียนเยอรมันได้คว้าเอกสารนี้ไว้อย่างกระหาย แต่พวกเขาลืมไปว่าเวลาที่ขนบทประพันธ์เหล่านี้จากฝรั่งเศสเข้าไปเยอรมนีนั้น เงื่อนไขชีวิตความเป็นอยู่ของฝรั่งเศสมิได้ขนย้ายตามเข้าไปด้วย ภายใต้เงื่อนไขของเยอรมนี เอกสารของฝรั่งเศสได้สูญเสียความหมายในทางปฏิบัติ โดยตรงอย่างสิ้นเชิง จะมีก็แต่เพียงรูปแบบที่เป็นเอกสารล้วน ๆ เท่านั้น มันย่อมต้องแสดงออกเป็นการขบคิดที่ไร้ความหมายเกี่ยวกับสังคมนิยมแท้ และเกี่ยวกับการบรรลุซึ่งธาตุแท้ของมนุษย์ เมื่อเป็นเช่นนี้ ในสายตาของนักปรัชญาเยอรมันในศตวรรษที่ ๑๘ เห็นว่า ความเรียกร้องต้องการของการปฏิวัติฝรั่งเศสครั้งแรกเป็นเพียงความเรียกร้องต้องการของ "ความมีเหตุผลทางปฏิบัติ" ทั่ว ๆ ไปเท่านั้น แต่การแสดงออกซึ่งเจตนารมณ์ของชนชั้นนายทุนฝรั่งเศสที่ปฏิวัตินั้น ในสายตาของพวกเขาเห็นว่าเป็นกฎของเจตนารมณ์ล้วน ๆ เป็นกฎของเจตนารมณ์เดิม เป็นกฎของเจตนารมณ์ของมนุษย์ที่แท้
งานแต่ประการเดียวของนักประพันธ์เยอรมันคือ เอาความคิดใหม่ของฝรั่งเศสมาผสมให้กลมกลืนเข้ากับมโนธรรมทางปรัชญาเก่าของพวกเขา หรือกล่าวเช่นนี้จะเหมาะกว่าคือ เริ่มจากทรรศนะปรัชญาของพวกเขาไปเข้าใจความคิดของฝรั่งเศส
การเข้าใจเช่นนี้ก็เหมือนกับการเข้าใจภาษาต่างประเทศ คือผ่านการแปล
เป็นที่ทราบกันดีแล้วว่า พระในศาสนาคริสต์นิการคาธอลิคเคยเขียนชีวประวัติของนักบุญคาธอลิคอย่างไร้สาระไว้ในคัมภีร์ต่างศาสนาในสมัยโบราณฉบับคัดด้วยมือ นักประพันธ์เยอรมันใช้ท่าทีที่ตรงกันข้ามต่อเอกสารทางโลกของฝรั่งเศส พวกเขาเขียนปรัชญาเหลวไหลของตนไว้ตอนล่างในต้นฉบับเดิมของฝรั่งเศส เช่นเขียนคำว่า "การแยกออกของทาสแท้มนุษย์ ( EntauBerung )" ไว้ตอนล่างของต้นฉบับเดิมของฝรั่งเศสซึ่งวิพากษ์ความสัมพันธ์ของเงินตรา และเขียนสิ่งที่เรียกว่า "การเลิกล้มการปกครองของสิ่งทั่วไปที่เป็นนามธรรม" ไว้ตอนล่างของต้นฉบับเดิมของฝรั่งเศสซึ่งวิพากษ์รัฐชนชั้นนายทุนเหล่านี้เป็นต้น
วิธีเอาคำในปรัชญาของตนยัดใส่อย่างดื้อ ๆ เข้าไปในทฤษฎีของฝรั่งเศสเช่นนี้ พวกเขาเรียกว่า "ปรัชญาแห่งการกระทำ" สังคมนิยม "วิทยาศาสตร์สังคมนิยมเยอรมัน" ข้อพิสูจน์ทางปรัชญาของสังคมนิยม " เหล่านี้เป็นต้น
เอกสารสังคมนิยมและเอกสารลัทธิคอมมิวนิสต์ของฝรั่งเศสได้ถูกตัดตอนเสียอย่างสิ้นเชิงเช่นนี้แหละ ในเมื่อเอกสารดังกล่าวนี้ไม่แสดงออกถึงการต่อสู้ที่ชนชั้นหนึ่งคัดค้านอีกชนชั้นหนึ่งติอไปอีก เมื่ออยู่ในมือของชาวเยอรมัน ดังนั้น ชาวเยอรมันจึงเห็นว่าพวกเขาได้ขจัด "ลักษณะด้านเดียวของชาวฝรั่งเศส" ออกไปแล้ว พวกเขามิได้เป็นตัวแทนของความเรียกร้องต้องการที่แท้จริง แต่เป็นตัวแทนความเรียกร้องต้องการของสัจธรรม มิได้เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของชนกรรมาชีพ แต่เป็นตัวแทนผลประโยชน์ของธาตุแท้มนุษย์ นั่นก็คือ ผลประโยชน์ของคนทั่วไป คนที่ไม่สังกัดชนชั้นใด ๆ และไม่มีอยู่ในโลกที่เป็นจริง แต่จะดำรงอยู่เพียงในเวหาอันเต็มไปด้วยเมฆหมอกแห่งความเพื้อฝันทางปรัชญาเท่านั้น
สังคมนิยมเยอรมันที่เคยปฏิบัติต่อการบ้านแบบเด็กนักเรียนของตนด้วยความขึงขังจริงจังแถมคุยนักคุยหนาถึงสิ่งเลว ๆ เหล่านั้น ของตนอย่างไม่รู้จักอาย เวลานี้ความไม่เดียงสาในการอวดภูมิของมันได้ค่อย ๆ สูญไปแล้ว
การต่อสู้ของชนชั้นนายทุนเยอรมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชนชั้นนายทุนพรัสเซียที่คัดค้านเจ้าศักดินาและระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือการเคลื่อนไหวแห่งเสรีนิยมนั้น นับวันแต่ละจริงจังยิ่งขึ้นทุกที
ดังนั้น สังคมนิยม " แท้ " จึงได้โอกาสอันดีในการนำเอาความเรียกร้องต้องการแห่งสังคมนิยมไปเป็นปฏิปักษ์กับการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในการนำคำสาปแช่งสิ่งชั่วร้ายที่สุดอันเป็นวิธีที่ใช้สืบทอดกันมานั้นไปแช่งชักหักกระดูกเสรีนิยม ไปสาปแช่งรัฐระบอบสภาผู้แทน ไปสาปแช่งการแก่งแย่งแข่งขันของชนชั้นนายทุน เสรีภาพในการพิมพ์ของชนชั้นนายทุน กฎหมายของชนชั้นนายทุน เสรีภาพและความเสมอภาคของชนชั้นนายทุน และโฆษณาเป่าร้องต่อมวลประชาชนว่าในการเคลื่อนไหวชนชั้นนายทุนนี้ มวลประชาชนไม่เพียงแต่ไม่ได้รับอะไรเลย หากยังกลับจะสูญเสียทุกสิ่งทุกอย่าง สังคมนิยมเยอรมัน พอดีลืมไปว่า การวิพากษ์ของฝรั่งเศส (สังคมนิยมเยอรมันเป็นเสียงสะท้อนที่น่าสมเพชของการวิพากษ์นี้ ) ถือเอาสังคมชนชั้นนายทุนสมัยใหม่พร้อมกับเงื่อนไขชีวิตความเป็นอยู่ด้านวัตถุที่สอดคล้องกันและระบอบการเมืองที่เหมาะสมกันเป็นเงื่อนไขเบื้องต้น และเงื่อนไขเบื้องต้นทั้งปวงนี้พอดีเป็นสิ่งซึ่งจะต้องช่วงชิงให้ได้มาในเยอรมันนีเวลานั้น
สังคมนิยมชนิดนี้ได้กลายเป็นหุ่นไล่กาอันพึงประสงค์อย่างยิ่งของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของแคว้นต่าง ๆ ในเยอรมันนีและบรรดาผู้เดินตามหลังมันคือ พระ ครู เจ้าที่ดินยุงเกอร์และขุนนาง สำหรับขู่ขวัญชนชั้นนายทุนที่ทำท่าจะบุกทะลวง
สังคมนิยมชนิดนี้เป็นสิ่งเพิ่มเติมอันหวานชื่นหลังการใช้แส้และลุกกระสุนอันทารุณโหดร้ายที่รัฐบาลเหล่านี้ใช้มาปราบปรามการลุกขึ้นสู้ของกรรมกรเยอรมัน
ในเมื่อสังคมนิยม "แท้" ได้กลายเป็นอาวุธที่รัฐบาลเหล่านี้นำมารับมือกับชนชั้นนายทุนเยอรมันเช่นนี้แล้ว มันก็เป็นตัวแทนโดยตรงของผลประโยชน์ปฏิกิริยา นั่นคือ ผลประโยชน์ของชนชั้นนายทุนน้อยเยอรมัน ในเยอรมันนีชนชั้นนายทุนน้อยที่เหลือตกทอดมาจากศตวรรษที่ ๑๖ และตั้งแต่นั้นมาก็ปรากฎตัวใหม่ในรูปแบบต่าง ๆ อยู่เสมอนั้นเป็นรากฐานทางสังคมที่แท้จริงของระบอบปัจจุบัน
การรักษาชนชั้นนายทุนน้อยนี้ไว้ก็คือ การรักษาระบอบปัจจุบันของเยอรมันนีไว้ ชนชั้นนี้รอคอยความพินาศที่หลีกเลี่ยงไม่พ้นอยู่อย่างอกสั่นขวัญแขวนจากการปกครองทางอุตสาหกรรมและการปกครองทางการเมืองของชนชั้นนายทุน ในด้านหนึ่งเนื่องจากการสั่งสมของทุน แต่ในอีกด้านหนึ่ง เนื่องจากการเติบใหญ่ขึ้นของชนชั้นกรรมาชีพปฏิวัติ ในสายตาของชนชั้นนี้เห็นว่า สังคมนิยม " แท้ " นั้นสามารถมีบทบาทชนิดขว้างหินก้อนเดียวได้นกสองตัว สังคมนิยม "แท้" จึงระบาดออกไปเหมือนกับโรคระบาด
พวกสังคมนิยมเยอรมันได้เอาเสื้อคลุมที่ทอด้วยใยแมงมุมแห่งการขบคิด ที่บรรจงปักดอกไม้แห่งโวหารอันสละสลวยและอาบด้วยหยาดน้ำแห่งความรู้สึกหวานชื่นมาสวมให้แก่ "สัจธรรมนิรันดร" อันแห้งเหี่ยวไม่กี่ข้อของตน เสื้อคลุมสีสวยสดงามสะดุดตาตัวนี้เพียงแต่ทำให้สินค้าของพวกเขาขายคล่องขึ้นในหมู่ลูกค้าเหล่านี้เท่านั้นเอง
ขณะเดียวกันสังคมนิยมเยอรมันก็ตระหนักยิ่งขึ้นทุกทีว่าหน้าที่ของตนก็คือ เป็นตัวแทนอันโอ่อ่าของชาวเมืองชนชั้นนายทุนน้อยพวกนี้
สังคมนิยมเยอรมันประกาศว่าประชาชาติเยอรมันเป็นประชาชาติตัวอย่าง ชาวเมืองนายทุนน้อยเยอรมันเป็นบุคคลตัวอย่าง สังคมนิยมเยอรมันได้เอาความหมายที่ลึกลับ ที่สูงส่ง และที่เป็นสังคมนิยมสวมใส่ให้อก่พฤติกรรมอันอัปลักษณ์แต่ละอย่างของชาวเมืองนายทุนน้อยเหล่านี้ ทำให้กลายเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิง สังคมนิยมเยอรมันดำเนินการอย่างถึงที่สุดในการคัดค้านความโน้มเอียง "ที่ทำลายอย่างป่าเถื่อน" ของลัทธิคอมมิวนิสต์นี้โดยตรง และประกาศว่าตนเองนั้นอยู่เหนือการต่อสู้ทางชนชั้นทั้งปวงอย่างไม่ลำเอียง สิ่งที่เรียกว่าบทประพันธ์สังคมนิยมและบทประพันธ์ลัทธิคอมมิวนิสต์ทั้งหลายแหล่ ที่แพร่หลายอยู่ในเยอรมันทุกวันนี้ (๑๘๔๗) เว้นแต่ส่วนน้อยเท่านั้นล้วนเป็นเอกสารที่อยู่ในประเภทต่ำช้าโสโครกและทำให้จิตใจคนอ่อนปวกเปียก[6]
คนส่วนใหญ่ในชนชั้นนายทุน ต้องการที่จะขจัดปัดเป่าโรคร้ายของสังคม เพื่อประกันการดำรงอยู่ของสังคมชนชั้นนายทุน
คนส่วนนี้ประกอบด้วยนักเศรษฐศาสตร์ นักลัทธิภราดรภาพ นักลัทธิมนุษยธรรม พวกปรับปรุงภาวะของชนชั้นผู้ใช้แรงงาน ผู้จัดกิจการการกุศล สมาชิกสมาคมคุ้มครองสัตว์ ผู้ก่อตั้งสมาคมเคลื่อนไหวเลิกสุราเมรัย และนักปฏิรูปเล็ก ๆ นานาชนิด สังคมนิยมชนชั้นนายทุนชนิดนี้กระทั่งถูกทำให้เป็นระบบที่สมบูรณ์บางระบบขึ้น
เราอาจยกหนังสือ "ปรัชญาแห่งความยากจน" ของปรูดองมาเป็นตัวอย่างได้
พวกนายทุนสังคมนิยมต้องการเงื่อนไขการดำรงชีวิตของสังคมสมัยใหม่ แต่ไม่ต้องการการต่อสู้และอันตรายที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนจากเงื่อนไขเหล่านี้ พวกเขาต้องการสังคมที่ดำรงอยู่ในปัจจุบัน แต่ไม่ต้องการปัจจัยที่ทำให้สังคมนี้เป็นแบบปฏิวัติและสลายตัวเหล่านั้น พวกเขาต้องการชนชั้นนายทุน แต่ไม่ต้องการชนชั้นกรรมาชีพ ในสายตาของชนชั้นนายทุนเห็นว่าโลกที่ชนชั้นตนปกครองนั้นย่อมเป็นโลกที่ดีงามที่สุด สังคมนิยมชนชั้นนายทุนได้เอาความคิดที่ปลอบใจคนชนิดนี้มาทำให้เป็นระบบกึ่งสมบูรณ์หรือสมบูรณ์ ชนชั้นนี้เรียกร้องให้ชนชั้นกรรมาชีพบรรลุซึ่งระบบของเขา และก้าวไปสู่เยรูซาเล็มใหม่ อันที่จริงชนชั้นนี้เพียงแต่เรียกร้องให้ชนชั้นกรรมาชีพหยุดยั้งอยู่แค่สังคมทุกวันนี้ แต่จะต้องทิ้งความคิดอันน่าชิงชังเกี่ยวกับสังคมนี้ของพวกเขาเสีย
รูปแบบอีกชนิดหนึ่งของสังคมนิยมชนิดนี้ ซึ่งไม่ค่อยเป็นระบบแต่ค่อนข้างใกล้ความเป็นจริง ได้พยายามจะให้ชนชั้นกรรมกรเกิดเบื่อระอาและทิ้งการเคลื่อนไหวปฏิวัติทั้งปวง โดยกล่าวดื้อ ๆ ว่า สิ่งที่จะนำผลดีมาสู่ชนชั้นกรรมกรนั้นมิใช่การปฏิรูปทางการเมืองอย่างนั้น หรืออย่างนี้ หากเป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขชีวิตความเป็นอยู่ด้านวัตถุ ซึ่งก็คือ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขชีวิตความเป็นอยู่ด้านวัตถุที่สังคมนิยมชนิดนี้เข้าใจนั้น มิใช่หมายถึง การทำลายความสัมพันธ์การผลิตชนชั้นนายทุน ซึ่งจะปรากฎเป็นจริง ขึ้นได้ก็โดยผ่านการปฏิวัตินั้นอย่างเด็ดขาด แต่เป็นการปฏิรูปด้านการบริหารบางอย่างการปฏิรูปนี้ดำเนินไปบนรากฐานของความสัมพันธ์การผลิตดังกล่าว ดังนั้น จึงไม่อาจเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างทุนกับแรงงานรับจ้างได้เลยแม้แต่นิดเดียว อย่างมากก็แค่ลดค่าใช้จ่ายในด้านการปกครองของชนชั้นนายทุนให้น้อยลงและทำให้งานบริหารรัฐของชนชั้นนี้เป็นแบบง่าย ๆ เท่านั้น
สังคมนิยมชนชั้นนายทุนจะได้รับการแสดงออกที่เหมาะสมของตนก็ต่อเมื่อมันได้กลายเป็นสำบัดสำนวนคำปราศรัยล้วน ๆ เท่านั้น
การค้าเสรี! ก็เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมกร กำแพงภาษี ศุลกากร! ก็เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมกร ปฏิรูประบบเรือนจำ! ก็เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมกร นี่จึงจะเป็นคำพูดคำสุดท้ายของสังคมนิยมชนชั้นนายทุนที่พูดออกมาอย่างขึงขังจริงจัง
สังคมนิยมชนชั้นนายทุนเมื่อสรุปแล้วก็มีความว่า การที่นายทุน เป็นนายทุน ก็เพื่อผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมกร
ในที่นี้เราจะไม่กล่าวถึงเอกสารที่เคยแสดงความเรียกร้องต้องการของชนชั้นกรรมาชีพในการปฏิวัติใหม่ทั้งปวงแห่งยุคใหม่ (บทประพันธ์ของบาเบิฟและคนอื่น ๆ)
การทดลองเริ่มแรกสุดของชนชั้นกรรมาชีพเพื่อบรรลุซึ่งผลประโยชน์ของชนชั้นตนโดยตรง ซึ่งดำเนินในสมัยที่ตื่นเต้นเร้าใจไปทั่วในเวลาที่สังคมขุนนางถูกโค่นนั้น ล้วนแต่ประสบความล้มเหลวอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ทั้งนี้เนื่องจากชนชั้นกรรมาชีพเองเวลานั้นยังเจริญเติบโตใหญ่ไม่เต็มที่ ทั้งนี้เนื่องจากเงื่อนไขด้านวัตถุของการปลดแอกชนชั้นกรรมาชีพยังไม่พร้อมบริบูรณ์ เงื่อนไขเหล่านี้เป็นผลิตผลของยุคชนชั้นนายทุนเท่านั้น เอกสารปฏิวัติที่ปรรกฎขึ้นพร้อกับการเคลื่อนไหวของชนชั้นกรรมาชีพในระยะต้น ๆ เหล่านี้ กล่าวสำหรับเนื้อหาของมันแล้วย่อมจะต้องเป็นปฏิกิริยา เอกสารชนิดนี้พร่ำสอนลัทธิละตัณหาทั่วไป และลัทธิเฉลี่ยแบบหยาบ ๆ
ระบบสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ในความหมายเดิมระบบแซต์ซิมอง ฟูริแอร์ โอเวน และคนอื่น ๆ นี้ปรากฏขึ้นในระยะต้น ๆ ของการต่อสู้ระหว่างชนชั้น กรรมาชีพกับชนชั้นนายทุน ซึ่งเป็นระยะที่การต่อสู้นี้ยังไม่ได้ขยายตัว เกี่ยวกับระยะนี้ เราได้บรรยายไว้ข้างต้นแล้ว (ดูบทที่ ๑ " ชนชั้นนายทุนกับชนชั้นกรรมาชีพ)
จริงอยู่ ผู้สร้างระบบเหล่านี้ได้มองเห็นความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้น ได้มองเห็นบทบาทของปัจจัยทำลายในตัวสังคมที่ปกครองอยู่ แต่พวกเขามองไม่เห็นความเป็นฝ่ายกระทำทางประวัติศาสตร์ใด ๆ ทางด้านชนชั้นกรรมาชีพ มองไม่เห็นการเคลื่อนไหวทางการเมืองใด ๆ ที่ชนชั้นนี้มีอยู่โดยเฉพาะ
เนื่องจากการพัฒนาของความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้นมีจังหวะก้าวควบคู่กันไปกับการพัฒนาของอุตสาหกรรม ฉะนั้น ผู้สร้างระบบเหล่านี้จึงไม่อาจมองเห็นเงื่อนไขด้านวัตถุของการปลดแอกชนชั้นกรรมาชีพ ด้วยเหตุนี้พวกเขาจึงไปแสวงหาวิทยาศาสตร์สังคมบางอย่าง และกฎของสังคมบางอย่างเพื่อสร้างเงื่อนไขเหล่านี้
เมื่อเป็นเช่นนี้ การเคลื่อนไหวของสังก็จะต้องเข้าแทนที่โดยการเคลื่อนไหวทางประดิษฐ์คิดค้นโดยส่วนบุคคลของพวกเขา เงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของการปลอดแอกก็จะต้องเข้าแทนที่โดยเงื่อนไขของการเพื้อฝัน การจัดตั้งเป็นชนชั้นขึ้นทีละขั้นของชนชั้นกรรมาชีพก็จะต้องแทนที่โดยองค์การจัดตั้งของสังคมที่พวกเขาเป็นผู้ออกแบบขึ้นเป็นพิเศษ ในสายตาของพวกเขาเห็นว่าประวัติศาสตร์ของโลกในวันข้างหน้านั้นจะเป็นประวัติศาสตร์แห่งการโฆษณาและดำเนินแผนสังคมของพวกเขาให้ลุล่วงไปเท่านั้นเอง
จริงอยู่ พวกเขาก็สำนึกถึงเหมือนกันว่าแผนของพวกเขานั้นที่สำคัญคือเป็นตัวแทน ผลประโยชน์ของชนชั้นกรรมกรซึ่งเป็นชนชั้นที่ทุกข์ยากที่สุด ในสายตาของพวกเขาเห็นว่าชนชั้นกรรมาชีพเป็นเพียงชนชั้นที่ทุกข์ยากที่สุดชนชั้นหนึ่งเท่านั้น
แต่เนื่องจากการต่อสู้ทางชนชั้นยังไม่ขยายตัว และเนื่องจากฐานะความเป็นอยู่ของพวกเขาเอง พวกเขาจึงสำคัญว่าตัวเองนั้นอยู่เหนือความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้น พวกเขาจึงสำคัญว่าตัวเองนั้นอยู่เหมือความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้น พวกเขาต้องการจะปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ของสมาชิกทั้งปวงในสังคม รวมทั้งสมาชิกที่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีที่สุดด้วย ดังนั้น พวกเขาจึงมักจะวิงวอนต่อสังคมทั้งสังคมโดยไม่จำแนกอยู่เสมอ และที่สำคัญก็คือ วิงวอนต่อชนชั้นปกครอง พวกเขาเข้าใจว่า ขอแต่ให้คนทั้งหลายเข้าใจระบบของพวกเขาก็จะยอมรับว่าระบบนี้เป็นแผนที่ดีที่สุดของสังคมที่ดีงามที่สุด
ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงปฏิเสธการปฏิบัติการทางการเมืองทั้งปวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิบัติการทางการปฏิวัติทั้งปวง พวกเขาหวังจะบรรลุวัตถุประสงค์ของตน โดยผ่านวิถีทางสันติและพยายามที่จะแผ้วถางทางให้แก่คำสอนศาสนาคริสต์เกี่ยวกับสังคมที่ใหม่ โดยผ่านการทดลองขนาดเล็กบางอย่างที่ไม่มีทางเกิดผลสำเร็จได้ และโดยผ่านพลังของตัวอย่าง
การวาดภาพสังคมในอนาคตแบบเพื้อฝันเช่นนี้เป็นไปในขณะที่ชนชั้นกรรมาชีพยังด้อยอยู่มากในการพัฒนาและดังนั้นการรับรู้ฐานะของตนจึงยังตกอยู่ในขั้นเพื้อฝันอันสอดคล้องกับความปรารถนาโดยสัณชาตญาณขั้นต้นสุดของชนชั้นกรรมาชีพที่มีต่อการดัดแปลงทั่วไปของสังคม
แต่บทประพันธ์สังคมนิยมและบทประพันธ์ลัทธิคอมมิวนิสต์เหล่านี้ก็มีส่วนที่วิพากษ์รวมอยู่ด้วยเหมือนกัน บทประพันธ์เหล่านี้โจมตีรากฐานทั้งมวลของสังคมในปัจจุบัน ดังนั้น จึงได้สนองข้อมุลอันมีค่ายิ่งที่ให้ความสว่างแก่การตื่นตัวของกรรมกร ความคิดเห็นที่เป็นคุณซึ่งเกี่ยวกับสังคมในอนาคตของบทประพันธ์เหล่านี้[7] เช่น ทำลายความเป็นแตกต่างระหว่างเมืองกับชนบท ทำลายครอบครัว ทำลายการประกอบอุตสาหกรรมโดยเอกชน ทำลายแรงงานรับจ้าง ส่งเสริมความปรองดองทางสังคม ให้รัฐเปลี่ยนเป็นองค์กรบริหารการผลิตล้วน ๆ ความคิดเห็นเหล่านี้เป็นเพียงแสดงออกว่าจะทำลายความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้น แต่ความเป็นปฏิปักษ์ทางชนชั้นชนิดนี้ในเวลานั้นเพิ่มเริ่มจะขยายตัว สิ่งที่บทประพันธ์เหล่านี้รับรู้เพียงแต่เป็นรูปแบบในระยะแรกที่ไม่ชัดแจ้งและไม่แน่นอนของการเป็นปฏิปักษ์ชนิดนี้เท่านั้น เพราะฉะนั้นความคิดเห็นเหล่านี้จึงยังมีลักษณะเพื้อฝันล้วน ๆ อยู่
ความหมายของสังคมนิยมและลัทธิคอมมิวนิสต์ที่วิพากษ์และเพื้อฝันเป็นปฏิภาคที่กลับกันกับการพัฒนาของประวัติศาสตร์ การต่อสู้ทางชนชั้นวิ่งพัฒนาไปและยิ่งมีรูปแบบที่แน่นอนมากขึ้นเท่าใดความเพื้อฝันที่อยู่เหนือการต่อสู้ทางชนชั้นนี้ ความเพื้อฝันที่คัดค้านการต่อสู้ทางชนชั้นนี้ก็ยิ่งสูญเสียความหมายทางปฏิบัติและเหตุผลทางทฤษฎีโดยสิ้นเชิงไปเท่านั้น ฉะนั้น แม้ว่าผู้สร้างระบบเหล่านี้มีความเป็นปฏิวัติในหลาย ๆ ด้านก็ตามแต่สานุศิษย์ของพวกเขามักจะประกอบกันขึ้นเป็นกลุ่มพรรคพวกที่ปฏิกิริยา สานุศิษย์เหล่านี้ยังคงเกาะแน่นอยู่กับทรรศนะเก่า ๆ ของอาจารย์ของพวกเขาโดยมองข้ามความคืบหน้าทางประวัติศาสตร์ของชนชั้นกรรมาชีพ ดังนั้น พวกเขาจึงพยายามที่จะบั่นทอนการต่อสู้ทางชนชั้น และประนอมความเป็นปฏิปักษ์กันทางชนชั้นอยู่ตลอดมา พวกเขาจึงมักจะฝันถึงการใช้วิธีการทดลองมาทำให้ความเพื้อฝันทางสังคมของตนปรากฏเป็นจริงขึ้นมาโดยสร้าง " ฟาลังสแตร์ " โดด ๆ ขึ้นตั้งเขตอพยพพลเมืองภายในประเทศ สร้างอีกาเรียน้อย [6] ซึ่งก็คือ เยรูซาเล็มใหม่ฉบับกระเป๋า และเพื่อที่จะสร้างวิมานในอากาศเหล่านี้ พวกเขาจึงจำต้องวอนขอความช่วยเหลือจากความใจบุญและถุงเงินของชนชั้นนายทุน พวกเขาค่อย ๆเสื่อมลงจนเป็นพวกเดียวกันกับพวกสังคมนิยมที่ปฏิกิริยาหรือที่อนุรักษ์ดังกล่าวข้างต้นไปแล้ว ต่างกันแต่เพียงว่าพวกเขาโอ้อวดความรู้อย่างเป็นระบบขึ้น และหลงเชื่อเป็นบ้าเป็นหลังในผลอันมหัศจรรรย์ทางวิทยาศาสตร์สังคมชุดนั้นของตน
ด้วยเหตุนี้ พวกเขาจึงคัดค้านการเคลื่อนไหวทางการเมืองทุกอย่างของกรรมกรอย่างรุนแรง เห็นว่าการเคลื่อนไหวเช่นนั้นเกิดขึ้นก็เพราะไม่เชื่อคำสอนของศาสนาคริสต์ใหม่อย่างหลับหูหลับตาเท่านั้น
1. ผู้แปลเป็นภาษาไทยครั้งแรกใช้คำว่าศักดินา แต่ศักดินาเป็นระบบของไทยโดยเฉพาะ ฉนั้นขอใช้คำว่าฟิวเดอล หรือขุนนางแทน (บรรณาธิการ)
2. ในที่นี้มิได้หมายถึงสมัยฟื้นอำนาจของอังกฤษระหว่างปี ๑๖๖๐- ๑๖๘๙ แต่หมายถึงสมัยฟื้นอำนาจของฝรั่งเศสระหว่างปี ๑๘๑๔ - ๑๘๓๐ (หมายเหตุโดยเองเกิลส์ในฉบับภาาษอังกฤษปี ๑๘๘๘)
3. พวกเชื้อสายแท้ คือพวกสนับสนุนราชวงศ์ บัวร์บองของฝรั่งเศสที่ถูกโค่นไปเมื่อปี ๑๗๙๒ ซึ่งเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของขุนนางที่มีที่ดินขนาดใหญ่และพระชั้นสูง พวกนี้เพิ่งจะก่อรูปขึ้นเป็นพรรคการเมือง หลังจากราชวงศ์นี้ถูกโค่นเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อปี ๑๘๓๐ ในเวลาที่คัดค้านราชวงศ์ออร์เลียงที่ถือบังเหียน การปกครองซึ่งมีขุนนาง ขุนคลังและชนชั้นนายทุนใหญ่เป็นหลักค้ำนั้น พวกลัทธิเชื้อสายแท้ ส่วนหนึ่งมักจะฉวยเอาปัญหาสังคมไปดำเนินการโฆษณาหลอกลวงว่าพวกตนเป็นผู้ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ใช้แรงงานมิให้ถูกนายทุนขูดรีด
อังกฤษหนุ่ม เป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวทางการเมือง และนักประพันธ์ส่วนหนึ่งที่สังกัดพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษ ตั้งขึ้นเมื่อต้นทศวรรษที่ ๔ แห่งศตวรรษที่ ๑๙ บรรดานักเคลื่อนไหวของ " อังกฤษหนุ่ม " ได้สะท้องความไม่พอใจพวกขุนนางที่มีที่ดินต่อการเพิ่มพูนขึ้นของอิทธิพลทางเศรษฐกิจและอิทธิพลทางการเมืองของชนชั้นนายทุน พวกเขาใช้วิธีการหลอกลวง หมายที่จะให้ชนชั้นกรรมกรอยู่ใต้อิทธิพลของตน และใช้ชนชั้นกรรมกรไปคัดค้านชนชั้นนายทุน
4. คำว่า "ผลแอปเปิ้ลทอง" ในฉบับภาษาอังกฤษปี ๑๘๘๘ ว่า "ผลแอปเปิ้ลที่หล่นลงมาจากต้นไม้อุตสาหกรรม" ผู้แปลฉบับภาษาจีน
5. ในที่นี้มราสำคัญหมายถึงเยอรมันนี ขุนนางมีที่ดิน และเจ้าที่ดินยุงเกอร์ ที่นั่นมีที่ดินอันกว้างใหญ่มากของตนสำหรับทำการเพาะปลูกเอง โดยอาศัยผู้จัดการดูแลผลประโยชน์ และยังตั้งโรงงานขนาดใหญ่ผลิตน้ำตาลจากหัวผักกาดหวานและกลั่นเหล้าจากมันฝรั่ง ขุนนางอังกฤษที่ค่อนข้างร่ำรวยยังไม่ตกต่ำถึงขนาดนั้น แต่พวกเขาก็รู้จักเหมือนกันที่จะให้คนอื่นที่ค่อนข้างจะไว้ใจไม่ได้เอาชื่อของพวกเขาไปตั้งบริษัทหุ้นส่วนเพื่อมาชดเชยค่าเช่าที่ดินที่ลดลง (หมายเหตุโดยเองเกิลส์ ในฉบับภาษาอังกฤษ ปี ๑๘๘๘)
6. ฟาลังสแตร์ เป็นเขตอพยพพลเมืองสังคมนิยมซึ่งออกแบบโดย ชาร์ลสฟูริแอร์ ; อีกาเรีย เป็นชื่อที่คาร์เบต์ตั้งให้แก่ประเทศในอุดมคติของเขา และต่อมาเป็นชื่อที่เขาตั้งให้แก่เขตอพยพพลเมืองลัทธิคอมมิวนิสต์ซึ่งเขาสร้างขึ้นในทวีปอเริกา (หมายเหตโดยเองเกิลส์ในฉบับภาษาอังกฤษปี ๑๘๘๘)
เขตอพยพพลเมืองภายในประเทศเป็นชื่อที่โอเวนตั้งให้แก่สังคมคอมมิวนิสต์ที่ทำขึ้นเป็นตัวอย่าง ฟาลังสแตร์ เป็นชื่อของวังสังคมที่ออกแบบ โดยฟูริแอร์ อีกาเรีย เป็นประทศในความเพื้อฝันแบบยูโตเปียแห่งระบอบคอมมิวนิสต์อย่างที่คาร์เต์วาดขึ้น (หมายเหตุโดยเองเกิลส์ในฉบับภาษาเยอรมันปี ๑๘๙๐)
ในอังกฤษ พวกลัทธิโอเวนคัดค้านพวกชาร์ติสต์ ในฝรั่งเศสพวกลัทธิฟูริแอร์คัดค้านพวกปฏิกิริยาเปลี่ยนแปลง ๒๙
7. มรสุมปฏิวัติปี ๑๘๔๘ ได้กวาดพวกอัปลักษณ์นี้ไปจนเกลี้ยงแล้ว และทำให้บุคคลที่เป็นตัวแทนของพวกนี้หมดความสนใจที่จะเอาสังคมนิยมมาดำเนินการฉวยโอกาสอีกแล้ว ตัวแทนที่สำคัญและบุคคลที่เป็นแบบฉบับของพวกนี้คือ นายคาร์ลกรุน (หมายเหตุโดยเองเกิลส์ในฉบับภาษาเยอรมันปี ๑๘๙๐)