ตรอทสกี ทฤษฏีปฏิวัติถาวร

1. สามสิบห้าปีหลังคอมมูนปารีส : จาก 1871 ถึง 1906

โดย ลีออน ตรอทสกี

ถ้าพิจารณาสภาพสังคมเราเมื่อไม่กี่ปีมาก่อน อาจมองได้ว่าเราห่างจากประเพณีของคอมมูนปารีส มากกว่าประเทศอื่นๆ ในยุโรปทุกประเทศ แต่หลังจากที่เราผ่านขั้นตอนแรกของการปฏิวัติ ซึ่งเป็นการต่อสู้ของกรรมาชีพเพื่อปฏิวัติถาวร อย่างไม่หยุดชะงัก สังคมเราต้องเผชิญหน้ากับมรดกของคอมมูน 1871 โดยตรงมากกว่าชาติอื่นในยุโรป

สำหรับเรา ประวัติศาสตร์ของคอมมูนไม่ใช่เพียงบทหนึ่งที่ตื่นเต้นในการต่อสู้เพื่อเสรีภาพในระดับสากล และไม่ใช่เพียงตัวอย่างของยุทธวิธีหนึ่ง แต่เป็นบทเรียนที่มีความสำคัญกับสถานการณ์ปัจจุบันโดยตรง

1.1 รัฐและการต่อสู้เพื่อยึดอำนาจ

การปฏิวัติ คือ การทดสอบพลังระหว่างชนชั้นอย่างเปิดเผย เพื่อได้มาซึ่งอำนาจ มวลชนลุกสู้เนื่องจากแรงกดดัน และผลประโยชน์สำคัญพื้นฐาน ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีความเข้าใจเกี่ยวกับเส้นทางและจุดหมายปลายทางของกระบวนการ. ฝ่ายหนึ่งเขียน "กฎหมายและความยุติธรรม" บนธงของตัวเอง อีกฝ่ายเขียน "ความสงบเรียบร้อย". "วีรชน" ของการปฏิวัติจะอาศัยจิตสำนึกใน "ภาระหน้าที่" หรืออาจหลงตัวเอง. พฤติกรรมของกองทัพถูกกำหนดโดยวินัยซึ่งไม่ใช้เหตุผล แต่ความกลัวสามารถลบล้างวินัยได้ หรือในที่สุดจิตสำนึกปฏิวัติจะเอาชนะทั้งวินัยและความกลัว. ความกระตือรือร้น ผลประโยชน์ส่วนตัว ระเบียบงานประจำ ความคิดที่บินสูงขึ้นอย่างอิสระ ความคิดเชื่อในเจ้าในผี ความเสียสละ นี่คือความรู้สึก ความคิด อารมณ์ ความสามารถ และกิเลสผูกพันกันเหมือนถูกผสมลงในน้ำวนยักษ์ใหญ่ บางส่วนจะสูญหายไป บางส่วนจะลอยขึ้นบนผิวน้ำ แต่ในที่สุดความหมายหลักของการปฏิวัติคือการต่อสู้เพื่ออำนาจรัฐในนามของการสร้าง สังคมใหม่

แต่รัฐไม่ใช่จุดหมายปลายทางในตัวมันเอง รัฐเพียงแต่เป็นเครื่องมือของพลังชนชั้นปกครอง ลักษณะของเครื่องมือหรือเครื่องจักรก็คือ มีจักร มีระบบถ่ายกำลัง และมีชิ้นส่วนต่างๆ พลังในการขับเคลื่อนเครื่องมือนี้คือผลประโยชน์ชนชั้น เครื่องจักรคือการรณรงค์ สื่อมวลชน การโฆษณาชวนเชื่อ ของวัดและโรงเรียน พรรคการเมือง การประชุมตามท้องถนน ฎีกา และการปฏิวัติยึดอำนาจ ระบบถ่ายกำลังคือสถาบันที่สร้างกฎหมายของวรรณะ ของผลประโยชน์ทรัพย์สิน หรือของชนชั้น ที่ใช้ความศักดิ์สิทธิ์ (ระบบเผด็จการ) หรือ มติของชาติ(ระบบรัฐสภา) เป็นกลไกหลอกลวง

สุดท้าย ชิ้นส่วนของจักร คือ ฝ่ายบริหาร ตำรวจ ศาล คุก และกองทัพ

รัฐไม่ใช่จุดหมายปลายทางในตัวมันเอง แต่เป็นกลไกยักษ์ใหญ่ในการจัดระเบียบ ล้มระเบียบ และสร้างระเบียบใหม่ของความสัมพันธ์ทางสังคม มันจะเป็นกลไกในการปฏิรูปสังคมหรือเป็นกลไกที่พิทักษ์ความเฉื่อยชาได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับว่าอยู่ในมือใคร

ทุกพรรคการเมืองที่มีศักดิ์ศรีจะพยายามได้มาซึ่งอำนาจรัฐ เพื่อที่จะใช้รัฐเป็นเครื่องใช้ในการตอบสนองผลประโยชน์ของชนชั้นผู้ก่อตั้งพรรค พรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย ซึ่งเป็นพรรคของชนชั้นกรรมาชีพก็ย่อมฝ่าฟันเพื่อที่จะให้กรรมาชีพเป็นผู้ครองอำนาจ

ชนชั้นกรรมาชีพพัฒนาขึ้นและมีพลังมากขึ้นพร้อมๆ กับการพัฒนาของระบบทุนนิยม ในแง่หนึ่ง การพัฒนาระบบทุนนิยมก็เป็นการพัฒนาไปสู่เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ แต่เงื่อนไขสำคัญที่กำหนดวันและเวลาของการได้อำนาจโดยชนชั้นกรรมาชีพ ไม่ใช่ระดับการพัฒนาของระบบการผลิตในขั้นแรก เพราะเงื่อนไขที่สำคัญกว่านั้นในระยะสั้น คือความสัมพันธ์ของความขัดแย้ง ทางชนชั้น สถานการณ์สากล และเงื่อนไขของความพร้อมที่จะสู้ ประเพณี และความพร้อมที่จะนำตัวเองของผู้กระทำ

ในประเทศที่ด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจ ชนชั้นกรรมาชีพอาจสามารถยึดอำนาจรัฐได้ก่อนกรรมาชีพในประเทศทุนนิยมที่พัฒนา ในปี 1871 กรรมาชีพยึดการบริหารกิจของสังคมในมือตัวเองในเมืองปารีสที่เป็นเมืองนายทุนน้อย เราต้องยอมรับว่าถืออำนาจได้แค่สองเดือน แต่กรรมาชีพในศูนย์กลางทุนนิยมเช่น อังกฤษ หรือ สหรัฐอเมริกามิได้ถืออำนาจแม้แต่ชั่วโมงเดียว ฉะนั้นการมองว่าถ้าเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพจะเกิดขึ้นได้ต้องขึ้นอยู่กับเงื่อนไข เทคนิคของระบบการผลิตโดยอัตโนมัติ เป็นการมองแบบกลไกเกินไปและเป็นการ มองต่างรูปแบบจากลัทธิมาร์คซ์

การที่กรรมาชีพปารีสยึดอำนาจในวันที่ 26 มีนาคม 1871 ไม่ได้เกิดขึ้นจากความสุกงอมของระบบการผลิตทุนนิยม หรือการมองโดยกรรมาชีพเองว่าระบบดังกล่าวสุกงอมพอแล้ว แต่เขาจำต้องยึดอำนาจเนื่องจากการทรยศของชนชั้นนายทุนต่อการป้องกันประเทศ มาร์คซ์เองเคยชี้แจงตรงนี้ว่าการป้องกันเมืองปารีส และฝรั่งเศสทั้งประเทศ ทำได้โดยวิธีเดียว คือการติดอาวุธให้กรรมชีพทั้งชนชั้น แต่กรรมาชีพที่ติดอาวุธและพร้อมที่จะปฏิวัติเป็นภัยอย่างยิ่งกับชนชั้นนายทุน ฉะนั้นรัฐบาลนายทุนของ ธีแอร์ส ไม่ได้พยายามที่จะปลุกมวลชนฝรั่งเศสเพื่อต่อสู้กับบิสมาร์คที่ล้อมเมืองปารีสแต่อย่างใด ตรงข้าม เขาให้ความสำคัญกับการปลุกกระดมกระแสปฏิกิริยาเพื่อทำลายกรรมาชีพปารีสมากกว่า รัฐบาลจึงถอนกำลังออกจากปารีสเพื่อวางแผนต่อไปในเมืองแวรซาย

กรรมาชีพปารีสที่ต้องการอิสรภาพสำหรับประเทศและความสุขสำหรับตัวเองและมวลประชา จึงเข้าใจดีว่าถึงเวลาที่เขาจะต้องกู้ชาติและในเวลาเดียวกันลุกขึ้นมากำหนดอนาคตตัวเอง กรรมาชีพปารีสปฏิเสธที่จะยึดอำนาจไม่ได้ เพราะถูกบังคับจากสถาการณ์การเมือง การถืออำนาจจึงมาโดยไม่ได้คาดหมาย แต่หลังจากที่ยึดอำนาจเสร็จพลังของชนชั้นกรรมาชีพจำต้องเดินตามแนวทางที่ถูกต้อง ถึงแม้ว่าจะไม่มั่นใจในตัวเอง จุดยืนทางชนชั้นของกรรมาชีพปารีส ตามที่มาร์คซ์กับเองเกิลส์เคยอธิบาย บังคับให้ชนชั้นนี้ต้องปฏิรูปโครงสร้างของรัฐในขั้นแรก และเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจตามมา ถ้าคอมมูนปารีสล้มเหลวในที่สุด ไม่ได้ล้มเหลวเพราะระบบการผลิตยังไม่พัฒนาพอ แต่ล้มเหลวเพราะ สถานการณ์ทางการเมือง เช่นการที่ปารีสถูกตัดขาดจากส่วนอื่นของประเทศ บวกกับสถานการณ์ระหว่างประเทศที่ไม่เอื้ออำนวย และท้ายสุดล้มเหลวอีกเพราะข้อผิดพลาดของคอมมูนเอง

1.2 สาธารณรัฐ และ เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ

คอมมูนปารีสปี 1871 ไม่ได้เป็นคอมมูนสังคมนิยมและองค์กรปกครองของมันไม่ได้เป็นองค์กรปกครองของการปฏิวัติสังคมนิยม คอมมูนปารีสเพียงแต่เป็นการเปิดฉากของเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการปฏิวัติสังคมนิยม ปารีสไม่ได้กลายเป็นระบบเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพเพราะประกาศตัวเป็นสาธารณรัฐ แต่การเป็นเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพมาจากการที่ตัวแทนคอมมูน 72 คน จากจำนวนตัวแทนทั้งหมด 90 คน เป็นคนกรรมาชีพที่ได้รับการปกป้องจากกองกำลังติดอาวุธของกรรมาชีพเอง ส่วนสาธารณรัฐนั้นเพียงแต่เป็นรูปแบบธรรมชาติของพลังกรรมาชีพที่สถาปนาขึ้น รูปแบบการปกครองสาธารณรัฐในโลกปัจจุบัน ถึงแม้ว่ามีต้นกำเนิดจากองค์กรประชาธิปไตยและมติของมวลประชา ในความจริงเพียงแต่เป็นรูปแบบหนึ่งของรัฐเผด็จการชนชั้นผู้มีทรัพย์สินเท่านั้น

เองเกิลส์ ในคำนำบทความเรื่อง "สงครามกลางเมืองในฝรั่งเศส" เคยตั้งข้อสังเกตว่า "บางคนคิดว่าตัวเองก้าวไกลไปข้างหน้า เมื่อสามารถ ปลดปล่อยตัวเองจากความคิดเรื่องกษัตริย์ที่ปกครองตามสายเลือดและประกาศตัวว่าสนับสนุนสาธารณรัฐประชาธิปไตย แต่ในความจริง รัฐก็เป็นเพียงเครื่องมือ ของชนชั้นหนึ่งในการกดขี่ชนชั้นอื่น ไม่ว่าจะเป็นระบบกษัตริย์หรือระบบสาธารณรัฐประชาธิปไตย" ฉะนั้นถึงแม้ว่าความคิดสังคมนิยมสากลจะเชื่อว่าสาธารณรัฐ เป็นรูปแบบเดียวของการปลดแอกสังคมนิยม แต่ในกรณีรัฐสังคมนิยมชนชั้นกรรมาชีพจะฉุดรูปแบบสาธารณรัฐจากมือของชนชั้นนายทุนและแปรสภาพมันจากเครื่องมือในการกดขี่ทางชนชั้นไปเป็นอาวุธในการปลดแอกมนุษย์ด้วยระบบ สังคมนิยมแทน

1.3 การพัฒนาเศรษฐกิจกับเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ

เมื่อสื่อสังคมนิยมของเราเริ่มเสนอความคิดเกี่ยวกับ "การปฏิวัติอย่างต่อเนื่อง" (ปฏิวัติถาวร) ที่เชื่อมโยงการทำลายระบบเผด็จการขุนนางกับการปฏิวัติสังคมนิยม โดยผ่านขั้นตอนการต่อสู้ทางสังคม การลุกขึ้นของส่วนใหญ่ๆของมวลชน และการต่อสู้อย่างไม่หยุดยั้งของชนชั้นกรรมาชีพต่ออำนาจอภิสิทธิ์เศรษฐกิจของชนชั้นปกครอง สื่อของฝ่าย "ก้าวหน้า" ต่างตะโกนแสดงความไม่พอใจเป็นหนึ่ง เขาต้องทนความยากลำบากมานาน แต่นี้มันเกินเหตุ! สื่อของพวกนี้ร้องว่าการปฏิวัติไม่ใช่เส้นทางที่มีความชอบธรรม แต่เป็นยุทธวิธีในกรณีพิเศษเท่านั้น ขบวนการปลดแอกไม่ได้มีเป้าหมายให้การปฏิวัติเกิดขึ้นตลอดกาล! แต่มีเป้าให้กระบวนการในการเปลี่ยนสังคมเข้ามาอยู่ในกรอบของกฎหมายให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ฯลฯ นี่คือจุดยืนของพวก "ประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญ"

พวกประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญเหล่านี้มีไม่น้อยที่เคยเป็น "มาร์คซิสต์"ในอดีต แต่บัดนี้เกิดเสรีภาพในด้านความคิดชนิดที่มาจากการมองอะไร แบบแคบๆ โดยไม่มองโลกทั้งโลก พวกนี้จะพยายามเอาข้อสรุปของลัทธิมาร์คซ์ เกี่ยวกับการปฏิวัติไปฝังไว้ภายใต้การ"วิจารณ์"นักสังคมนิยมปฎิวัติด้วยวิธีที่เขาอ้างว่าเป็น "วิธีการของมาร์คซ์" เขาจะกล่าวหาว่า “พวกปฏิวัติที่เป็นทาสกับความคิดแบบล้าสมัย ที่ตกยุค และทรยศกับความจำเป็นที่จะต้องปฏิรูปความคิดลัทธิมาร์คซ์” เสมอ

การปฏิวัติที่ต่อเนื่องหรือ? การเปลี่ยนแปลงทางสังคมนิยม? แต่ ลัทธิมาร์คซ์ ได้สอนไว้ว่าการเปลี่ยนแปลงของสังคมหนึ่งไปสู่อีกสังคมหนึ่งย่อมเกิดขึ้นเมื่อสังคมเดิมหมดพลังและความจำเป็นที่จะดำรงอยู่ไม่ใช่หรือ? ทุนนิยมรัสเซียหมดพลังหรือยัง? หรือพวกสังคมนิยมเชื่อเหมือนนักจิตนิยมว่าสามารถล้มระบบทุนโดยใช้ระบบความคิด? ฯลฯ .....ฯลฯ บางที่พวกเสรีนิยมที่คิดว่าพวกประชาธิปไตยรัฐธรรมนูญรุนแรงเกินไป จะนำข้อโต้แย้งของอดีต "มาร์คซิสต์" มาใช้เองด้วย

ทุนนิยมต้อง "หมดพลังเอง" ก่อนที่ชนชั้นกรรมาชีพจะยึดอำนาจรัฐได้ คำพูดนี้แปลว่าอะไร? แปลว่าต้องพัฒนาพลังการผลิตและยกระดับพลังการผลิตให้เข้มข้นถึงจุดสูงสุด? ถ้าเป็นเช่นนั้นจุดสูงสุดนี้คืออะไร? มีรูปแบบองค์ ประกอบอะไรบ้าง?

การพัฒนาเศรษฐกิจในรอบสิบ ยี่สิบ สามสิบปีที่ผ่านมา แสดงให้เราเห็นว่าทุนนิยมเป็นระบบที่รวบรวมการผลิตในภาคต่างๆ ภายใต้การควบคุมของคนไม่กี่คน นอกจากนี้แล้วรอบๆ ศูนย์กลางการผลิตขนาดใหญ่จะมี อุตสาหกรรม และธุรกิจขนาดย่อมที่เติบโตเหมือนกาฝาก ในภาคเกษตรกรรมระบบทุนนิยมย่อมจะทำลายการผลิตขนาดเล็ก โดยแปรรูปชาวนาไปเป็น “กรรมาชีพเกษตร” กรรมาชีพอุตสาหกรรม พ่อค้าแม่ค้าตามท้องถนน และขอทาน หรือในบางกรณีระบบทุนนิยมจะรักษาระบบการผลิตของชาวนาภายใต้เงื่อนไขกรอบเหล็กของทุนนิยม หรืออาจสร้างธุรกิจเกษตรกรรมเล็กๆ ที่เป็นแหล่งแรงงาน สำหรับเจ้าของที่ดินรายใหญ่ แต่สิ่งที่ชัดเจนที่สุดที่เห็นจากการพัฒนารูปแบบหลากหลายทั้งหมดเหล่านี้คือ มูลค่าที่ผลิตจากธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่มีอิทธิพลหลักในสังคมการผลิต มักจะเติบโตเรื่อยๆ เมื่อเทียบกับมูลค่าจากธุรกิจรายย่อย และการเติบโตของธุรกิจยักษ์ใหญ่จะเพิ่มการประสานงานระหว่างภาคการผลิต ต่างๆ ในเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งจะมีผลทำให้การถือครองระบบการผลิตโดยส่วนรวมง่ายขึ้น ฉะนั้นคำถามที่เราจะต้องถามต่อผู้ที่วิจารณ์ทฤษฎีของเราคือ สัดส่วนระหว่างระบบการผลิตภาคเกษตรรายย่อยกับภาคการผลิตยักษ์ใหญ่ จะต้องเปลี่ยนไปแค่ไหน ถึงจะทำให้ทุนนิยมหมดกำลังในตัวเอง หรือสุกงอม พร้อมที่จะให้กรรมาชีพเด็ดลงมาหรือเก็บเกี่ยวได้?

พรรคของเราไม่ได้หวังที่จะสร้างระบบสังคมนิยมจากจิตสำนึกทางสังคมนิยม แต่จะต้องวางรากฐานของระบบสังคมนิยมบนฐานวัตถุที่มาจากการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งเราคาดว่าคงจะไม่หยุดยั้งหลังจากที่ชนชั้นกรรมาชีพได้อำนาจ แต่ประเด็นหลักที่สำคัญที่สุดสองแง่ ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญยิ่งในการพิจารณาปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจกับเผด็จการ ชนชั้นกรรมาชีพ คือ

1. การพัฒนาเศรษฐกิจที่ผ่านมา ถึงขั้นตอนนานมาแล้วที่ทำให้ระบบสังคมนิยมมีประโยชน์มากกว่าระบบการจัดการของสังคมปัจจุบัน

2. ชนชั้นกรรมาชีพไม่สามารถเลือกวันเวลาที่เหมาะสมในการเข้าถืออำนาจรัฐตามใจชอบ ความขัดแย้งทางชนชั้น ซึ่งเติบโตบนฐานวิวัฒนาการของระบบทุนนิยม เป็นกระบวนการที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับจิตใจมนุษย์

พวกนักวิชาการฝ่ายทุนซึ่งรวมถึงนักวิชาการบางคนที่เล่นทฤษฎีมาร์คซ์เพื่อโต้แย้งกับนักสังคมนิยม ล้วนแต่ไม่เข้าใจผลของความขัดแย้งทางชนชั้น พวกนี้จะคำนึงถึงระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างเดียว โดยไม่กล้าที่จะคำนึงถึงความขัดแย้งทางชนชั้นและผลของความขัดแย้งดังกล่าว

กระแสสังคมนิยมมีภาระและความต้องการที่จะสะท้อนความเป็นจริงในสังคม แต่เมื่อความขัดแย้งทางชนชั้นที่เป็นจริงเปิดโอกาสให้ชนชั้นกรรมาชีพที่ปฏิวัติ เลือกระหว่างการยึดอำนาจรัฐกับการประนีประนอมทางชนชั้น นักสังคมนิยมจะต้องเลือกแนวทางยึดอำนาจรัฐ ในเวลาเดียวกันกระแสสังคมนิยมจะไม่ลืมกระบวนการการพัฒนาที่ลึกกว่านั้นซึ่งหมายถึงกระบวนการพัฒนาและรวมศูนย์ของการผลิต แต่นักสังคมนิยมจะสรุปว่า ถ้าการต่อสู้ทางชนชั้น ซึ่งในที่สุดเกิดขึ้นบนรากฐานระบบการผลิต ผลักดันให้ชนชั้นกรรมาชีพสร้าง เผด็จการทางชนชั้นก่อนที่ชนชั้นนายทุนจะ "หมดกำลัง" ในการพัฒนาเศรษฐกิจ (และในเวลาที่ชนชั้นนายทุนเกือบจะยังไม่ได้เริ่มภาระทางการเมือง) ประวัติศาสตร์เพียงแต่โยนภาระหน้าที่อันใหญ่หลวงกับชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้น กระแสสังคมนิยมไม่สามารถหลีกเลี่ยงภาระหน้าที่ทางประวัติศาสตร์เหล่านี้ได้ ถึงแม้ว่าชนชั้นกรรมาชีพอาจไม่ประสบความสำเร็จในครั้งนั้น เพราะการหลีกเลี่ยงการต่อสู้จะนำ ความหายนะมาสู่ชนชั้นกรรมาชีพและความป่าเถื่อนมาสู่สังคม

1.4 การปฏิวัติ ชนชั้นนายทุน และชนชั้นกรรมาชีพ

ชนชั้นนายทุนไม่สามารถนำประชาชนในการต่อสู้โค่นล้มเผด็จการกษัตริย์หรือทหารเพื่อสถาปนาประชาธิปไตยแบบรัฐสภาทุนนิยม แต่ในเวลาเดียวกันการต่อสู้ของชนชั้นกรรมาชีพเป็นอุปสรรคในการทำข้อตกลงระหว่างเผด็จการกับชนชั้นนายทุนเพื่อสร้างประชาธิปไตยแบบรัฐสภา กระแสประชาธิปไตยทุนนิยมไม่สามารถเป็นกระแสนำของชนชั้นกรรมาชีพได้ เพราะชนชั้นกรรมชีพได้พัฒนาเลยขั้นตอนนั้นแล้ว ชนชั้นกรรมาชีพปัจจุบันมีความต้องการที่จะนำหน้านายทุน กระแสประชาธิปไตยนายทุนอ่อนแอยิ่งกว่ากระแสเสรีนิยมและสองกระแสนี้ห่างเหินจากประชาชนและเกือบจะไม่มีความหมายกับคนส่วนใหญ่ ชนชั้นนายทุนมิได้รับโอกาสในการนำสังคมจากความคิดทางการเมืองเขาเอง ฉะนั้น อิทธิพลของนายทุนมาจากฐานะที่ได้เปรียบทางสังคมเท่านั้น

ชนชั้นกรรมาชีพเป็นทั้งกำลังนำและกำลังหลักในการปฏิวัติ ชนชั้นอื่นนำการปฏิวัติไม่ได้ ชนชั้นกรรมาชีพจะไม่พอใจกับการประนีประนอมในรูปแบบต่างๆ ทุกชนิด ถึงแม้ว่าการต่อสู้เพื่อชัยชนะของชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งจะจบลงด้วยการยึดอำนาจของชนชั้นนี้ จะต้องใช้เวลาหยุดพักบ้างหรือถอยกำลังบ้าง

1.5 ชนชั้นกรรมาชีพและชาวนา

ภาระหน้าที่แรกของชนชั้นกรรมาชีพเมื่อยึดอำนาจรัฐ จะเป็นภาระหน้าที่ทางการเมืองดังต่อไปนี้คือ สร้างฐานการปกครองที่มั่นคง ติดอาวุธให้ฝ่ายปฏิวัติ ปลดอาวุธฝ่ายปฏิกิริยา ขยายฐานสนับสนุนการปฏิวัติ และสร้างรัฐในรูปแบบใหม่ ในการทำงานดังกล่าวชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียจะต้องไม่ลืมบทเรียนจากคอมมูนปารีส โดยเฉพาะเรื่องการสร้างรัฐใหม่ บทเรียนที่สำคัญจากคอมมูนปารีสที่ต้องนำมาใช้ตั้งแต่ต้น คือการสลายกำลังกองทัพและตำรวจ การติดอาวุธ ให้มวลประชา การสลายระบบข้าราชการ การนำระบบเลือกตั้งมาใช้ในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ทุกประเภท การลดเงินเดือนเจ้าหน้าที่รัฐให้เท่ากับเงินเดือนเฉลี่ยของคนงาน และการแยกศาสนาออกจากรัฐ

แต่ชนชั้นกรรมาชีพจะไม่สามารถสร้างความมั่นคงในการครองอำนาจ ถ้าไม่ขยายฐานของการปฏิวัติ มวลประชาที่ทำงานหลายระดับ โดยเฉพาะในชนบท จะต้องถูกดึงเข้ามาสนับสนุนการปฏิวัติและถูกจัดตั้ง แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ก็ต่อเมื่อชนชั้นนำในการปฏิวัติซึ่งคือชนชั้นกรรมาชีพ สามารถคุมอำนาจรัฐได้ เพราะการปลุกระดมและการจัดตั้งจะใช้ทรัพยากรของรัฐและท้ายสุดอำนาจในการออกกฎหมายจะกลายเป็นอาวุธที่สำคัญในการปลุกระดมมวลประชาให้ปฎิวัติ นอกจากนี้การที่ชนชั้นกรรมาชีพต้องรับภาระหน้าที่ในการปฏิวัติกระฎุมพีจะสร้างทั้งอุปสรรคและโอกาสให้กับชนชั้นกรรมาชีพ ในกรณีความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นกรรมาชีพกับชาวนา ชนชั้นกรรมาชีพจะได้เปรียบมหาศาล

ในการปฏิวัติปี 1789 - 1793 และ 1848 อำนาจรัฐผ่านจากกษัตริย์ ไปสู่ส่วนของชนชั้นนายทุนที่อ่อนน้อมที่สุดและชนชั้นนี้ได้ปลดแอกชาวนา (โดยวิธีการที่จะไม่กล่าวถึงในที่นี้) ก่อนที่จะเกิดประชาธิปไตย ฉะนั้นหลังจากนั้นชาวนาที่ถูกปลดแอกไปจากระบบทาสก็หันมาเลิกสนใจในการเมืองของ "ชาวกรุง" เลิกสนใจในการปฏิวัติ และแปรตัวไปเป็นฐานนิ่งของ "ความมั่นคง" ที่สนับสนุนฝ่ายปฏิกิริยา

การปฏิวัติรัสเซียไม่สามารถสถาปนาการปกครองใดๆ ในรูปแบบรัฐธรรมนูญทุนนิยมที่สามารถแก้ปัญหาเบื้องต้นของประชาธิปไตยได้ ยกตัวอย่างเช่น พวกข้าราชการหัวปฏิรูป "แบบวิท" มักจะทำลายความพยายามในการปฏิรูปของตัวเองด้วยการต่อสู้เพื่อเอาตัวรอด ฉะนั้นผลประโยชน์พื้นฐานของชาวนา ซึ่งรวมถึงผลประโยชน์ของชาวนาทั้งชนชั้น ผูกพันกับชะตากรรมของการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ

ชนชั้นกรรมาชีพที่ครองอำนาจจะปรากฎตัว ต่อหน้าชนชั้นชาวนา ในรูปแบบชนชั้นที่ปลดแอกชนชั้นชาวนา

เช่นเดียวกับกรณีคอมมูนปารีส ชนชั้นกรรมาชีพจะมีสิทธิ์ประกาศว่า "ชัยชนะของเรา คือชัยชนะของท่าน"

การปกครองของชนชั้นกรรมาชีพ นอกจากจะก่อให้เกิดการ
ปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีความเท่าเทียมกันแล้ว ยังจะก่อให้เกิดการปกครองตัวเองอย่างเสรี การโยกย้ายภาระการเสียภาษีไปสู่ชนชั้นที่มั่งมี การสลายกำลังกองทัพไปสู่มวลชนที่ติดอาวุธ การยกเลิกภาษีที่จ่ายให้องค์การศาสนา และยิ่งกว่านั้นการยอมรับอย่างเป็นทางการว่าการยึดที่ดินจากเจ้าที่ดินมาเป็นของชาวนารายย่อยเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ชนชั้นกรรมาชีพจะยึดถือการกระจายที่ดินเป็นขั้นตอนพื้นฐาน ในการพัฒนาเกษตรกรรมขั้นต่อไปของรัฐ ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว ชาวนารัสเซียจะไม่ลดความสนใจและการสนับสนุนในกระบวนการปฏิวัติกรรมาชีพเหมือนกับที่ชาวนาฝรั่งเศสสนับสนุนรัฐบาลของนโปเลี่ยน โบนาพาร์ท ที่ประกันการยึดครองที่ดินของชาวนารายย่อยด้วยกำลังทหาร ฉะนั้นระบบผู้แทนราษฎรภายใต้การนำของชนชั้นกรรมาชีพที่ได้รับการสนับสนุนจากชนชั้นชาวนา จะเป็นรูปแบบการปกครองของประชาธิปไตยแรงงานที่เป็นประชาธิปไตยรูปแบบหนึ่ง

แต่ชนชั้นชาวนาสามารถเข้ามายึดอำนาจแทนชนชั้นกรรมาชีพได้ไหม? เป็นไปไม่ได้! บทเรียนและประสบการณ์ประวัติศาสตร์สอนให้เราเข้าใจว่า ชนชั้นชาวนาไม่สามารถมีบทบาททางการเมืองที่เป็นอิสระได้ แม้แต่สหภาพ ของชาวนาก็ไม่ใช่สหภาพที่มีความอิสระทางชนชั้น แต่เป็นแนวร่วมระหว่างพวก ประชาธิปไตยก้าวหน้ากับชาวนาบางส่วนที่มีจิตสำนึกเท่านั้น ประวัติศาสตร์ของระบบทุนนิยมสอนให้เราเห็นว่าชนบทต้องขึ้นกับเมือง สหภาพชาวนาจะเป็นกองกำลังช่วยเหลือการต่อสู้ในเมือง และนอกจากนี้แล้วเมื่อการต่อสู้พัฒนายิ่งขึ้น ความขัดแย้งทางผลประโยชน์เล็กๆ น้อย ๆ ระหว่างชาวนาระดับต่าง ๆ จะเพิ่มทวีขึ้นทุกวัน

1.6 วิธีการและเป้าหมายของเผด็จการชนชั้นกรรมาชีพ

เผด็จการชนชั้นกรรมาชีพไม่ใช่สิ่งเดียวกันกับเผด็จการของพรรค หรือองค์กรปฏิวัติเหนือชนชั้นกรรมาชีพ แต่เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ คือเผด็จการเหนือสังคมทั้งสังคมโดยผ่านชนชั้นกรรมาชีพ ตัวอย่างที่ดีที่สุคือ คอมมูนปารีส

ในคอมมูนปารีสทุกสิ่งทุกอย่างสร้างบนรากฐานความอิสระของกรรมาชีพ กรรมการกลางของกองรักษาการแห่งชาติเตือนกรรมาชีพไม่ให้ลืมว่า ผู้แทนที่เลือกจากกรรมาชีพเองเท่านั้นที่จะเป็นผู้รับใช้กรรมาชีพที่แท้จริง "จงหลีกเลี่ยงผู้มั่งมี เพราะน้อยครั้งที่ผู้มั่งมีจะถือกรรมาชีพเป็นพี่เป็นน้อง" คือคำเขียนของกรรมการกลาง คอมมูนคือกรรมการของชนชั้นกรรมาชีพ กองรักษาการแห่งชาติคือกองทหาร เจ้าหน้าที่คือผู้รับใช้กรรมาชีพ นี่คือเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ

รัฐบาลของชนชั้นกรรมาชีพจะไม่เป็นรัฐบาลมหัศจรรย์ การออกกฎหมายลดชั่วโมงการทำงาน เพิ่มภาษีกับผู้มั่งมี ยึดทรัพย์สินและการผลิตมาเป็นของส่วนรวม จะเป็นสิ่งง่ายดาย สิ่งที่ยากคือการนำกฎหมายเหล่านั้นมาปฏิบัติเป็นรูปธรรมโดยอาศัยการจัดตั้งของชนชั้นกรรมาชีพ

เหนือกว่านั้นเมื่อชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียยึดอำนาจรัฐด้วยวิธีการปฏิวัติเรียบร้อยแล้ว ชนชั้นนี้จะขยันทำงานเพื่อประสานเป้าหมายและชะตากรรมของชาติตัวเองกับเป้าหมายในการสร้างสังคมนิยมทั่วโลก เป้าหมายการปฏิวัติสากลไม่เพียงแต่เป็นเป้าหมายที่ตรงกับจุดยืนสากลนิยมของกรรมาชีพเท่านั้น แต่เป็นเงื่อนไขสำคัญในการเอาตัวรอดของชนชั้นกรรมาชีพรัสเซีย

ชนชั้นกรรมาชีพรัสเซียจะไม่พ่ายแพ้ และจะสามารถต่อสู้จนถึงจุดหมายปลายทาง ถ้าให้ความสำคัญกับเงื่อนไขการขยายการปฎิวัติออกนอกกรอบและขอบเขตของการปฏิวัติระดับชาติไปสู่การปฏิวัติและชัยชนะของกรรมาชีพทั่วโลก

จาก Leon Trotsky “On the Paris Commune” (1987) Pathfinder Press , New York

เขียนที่เมืองเซนท์พีเทอร์สเบอร์ก ธันวาคม 1905

แปลโดย ใจ อึ๊งภากรณ์